สำหรับ สื่อดิจิทัลเรื่องการปฏิสนธิซ้อน ที่จะแนะนำในฉบับนี้ เป็นสื่อที่พัฒนาขึ้นโดยสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. สำหรับประกอบการอบรมครูวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานและความเชื่อมั่นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในเรื่องการสืบพันธุ์ของพืชดอก
ลักษณะปฏิสัมพันธ์ของสื่อที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการอบรมครูจะแตกต่างจากสื่อที่พัฒนาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อโดยตรง โดยจะมีความซับซ้อนของการใช้งานน้อยกว่า และไม่มีการประเมินการเรียนรู้หรือการให้ข้อมูลสะท้อนกลับ แต่มุ่งเน้นในการให้ข้อมูล โดยวิทยากรในการอบรมจะเป็นผู้กระตุ้นการอภิปรายและใช้คำถามเพื่อให้ครูผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเข้าใจในกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของพืชและการปฏิสนธิ
สื่อดิจิทัลเรื่องนี้แม้จะพัฒนาขึ้นเพื่อการอบรมครู แต่ก็สามารถนำมาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 และ 4 ได้ โดยเนื้อหาในรายละเอียดอาจซับซ้อนเกินกว่าความต้องการของหลักสูตรช่วงชั้นที่ 3 ครูผู้สอนจึงไม่ควรมุ่งนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในรายละเอียด แต่ควรใช้สื่อนี้ในการแสดงภาพรวมของกระบวนการสืบพันธุ์ในพืชดอกว่า ภายในดอกซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช จะมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ทั้งเพศเมียและเพศผู้ ต่อมาเมื่อมีการถ่ายละอองเรณู นิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้จะเคลื่อนที่ตามหลอดละอองเรณูไปรวมกับนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย เกิดเป็นไซโกต ซึ่งจะเจริญเป็นต้นอ่อน และจะเจริญไปเป็นพืชต้นใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกับพ่อแม่ต่อไป
ผู้เรียนช่วงชั้น 3 บางส่วนอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเกิดความสับสนเกี่ยวกับการถ่ายละอองเรณู (pollination) และการปฏิสนธิ (fertilization) ซึ่งสื่อดิจิทัลเรื่องการปฏิสนธิซ้อนนี้ ได้แสดงให้เห็นชัดเจน เป็นรูปธรรม และเข้าใจง่ายว่า การถ่ายละอองเรณูแตกต่างจากการปฏิสนธิอย่างไร
สำหรับรายละเอียดของการแบ่งเซลล์เพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ หรือรายละเอียดของการปฏิสนธินั้น เหมาะสมสำหรับใช้ประกอบการเรียนรู้หัวข้อเดียวกันนี้ ในช่วงชั้น 4 สาระเพิ่มเติม
สื่อดิจิทัลเรื่องการปฏิสนธิซ้อนนี้สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้หลายรูปแบบ โดยอาจใช้ในการนำเสนอเนื้อหา ทดแทนหรือเสริมเพิ่มเติม จากการใช้ภาพนิ่งหรือการอธิบายบนกระดานหรือการศึกษาจากใบความรู้ อย่างไรก็ตาม ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนศึกษาสื่อดิจิทัลเรื่องนี้ โดยมีประเด็นคำถามที่ต้องการค้นหาคำตอบระหว่างการศึกษา นอกเหนือจากนั้นเมื่อศึกษาจากสื่อแล้วอาจให้ผู้เรียนสรุปกระบวนการตามที่เข้าใจ โดยอาจสรุปเป็นแผนภาพ ผังมโนทัศน์ หรือแสดงบทบาทสมมติ เพื่อนำเสนอแนวความคิดของตนเองหรือของกลุ่ม แล้วอภิปรายเพื่อสรุปความเข้าใจร่วมกันก็ได้
แม้ว่าการปฏิสนธิจะเป็นกระบวนการที่สังเกตเห็นโดยตรงได้ยาก เนื่องจากส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีขนาดเล็ก เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเฉพาะส่วน ในระยะเวลาค่อนข้างสั้น และควบคุมตัวแปรต่างๆ ได้จำกัด แต่ในการเรียนรู้เรื่องนี้ก็สามารถจัดกิจกรรมปฎิบัติการได้หลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงจากทฤษฎีสู่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น อาจให้ผู้เรียนสำรวจลักษณะของดอกไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้เห็นความหลากหลายอันน่าอัศจรรย์ในธรรมชาติ ในการเพิ่มโอกาสของการถ่ายละอองเรณู การปฏิสนธิ และการกระจายพันธุ์ของพืชต้นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมา นอกจากนั้นผู้เรียนยังสามารถศึกษาอับเรณู ละอองเรณู หรือการงอกของละอองเรณู โดยสังเกตผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ได้ด้วย
สื่อดิจิทัลเป็นสื่อที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนครูผู้สอนให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนอาจต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อวางแผนการจัดกิจกรรมในแต่ละบทเรียนโดยใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีความหมาย ไม่ใช่เพียงบอกข้อมูลให้รับรู้แล้วก็ผ่านไป